หนุ่มตัดสินใจ ทิ้งเงินเดือนสองหมื่น จากงานประจำ มาเลี้ยงปูนา โกยรายได้เป็นล้านต่อเดือน ด้วยวิธีง่ายๆ

 

เลี้ยงปูนา โกยรายได้เป็นล้านต่อเดือน ด้วยวิธีง่ายๆ

การเลี้ยงปูนาสร้างรายได้ เป็นได้ทั้งอาชีพเสริม และอาชีพหลัก ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเรื่องราวของ “ปานศิริ ปาดกุล” หรือ ตูมตาม เคยลำบากแม้กระทั่งไม่มีเงินซื้อข้าวสารกิโลกรัมละ 33 บาท เคยเป็นหนี้นอกระบบ ต้องทำสารพัดอาชีพแต่สุดท้ายจับทางถูก หันมาเลี้ยงปูนา บังคับผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้ง ส่งขายร้านอาหาร บางเดือนสร้างรายได้หลักล้านบาท

คุณตูมตาม เล่าว่า หลังจบปริญญาตรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ทำงานที่แรกในแผนกบัญชี บริษัทแห่งหนึ่ง จากนั้นย้ายไปอยู่โรงงานผลิตอะไหล่โทรศัพท์มือถือที่จังหวัดปทุมธานี ทำงานประจำได้ราว 5 เดือน ก็ลาออก เพราะต้องกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสิงห์บุรีไปดูแลพ่อซึ่งประสบอุบัติเหตุ เดินไม่ได้

“ผมทำงานประจำ รับเงินเดือน 2 หมื่นบาท อยู่ราว 5 เดือน พอรู้ว่าพ่อในวัย 60 ปี ประสบอุบัติเหตุตกต้นไผ่ความสูงกว่า 2 เมตร ก็เลือกที่จะลาออก แล้วกลับบ้านมาดูแล พร้อมกับแบ่งเบาภาระบุพการี ด้วยการเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงปากท้อง 3 คน”

 

 

 

ในเบื้องต้นเด็กหนุ่มอนาคตไกลใช้เงินเก็บที่มีอยู่ซื้ออาหารและสิ่งจำเป็น ทว่าผ่านไปซักระยะ เงินเก็บเริ่มไม่พอ คราวนี้ต้องไปกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ ตูมตามบอกว่า เนื่องจากพ่อเดินไม่ได้ ต้องกินอาหารผ่านสายยางอยู่ 5 เดือน แม่ก็ป่วย ขณะที่ทั้งบ้านเหลือเงินเพียง 1,000 บาท

เงินติดตัวเพียง 1,000 บาทสุดท้าย เด็กหนุ่มใช้วิธีนำไปลงทุนขายไก่ย่าง หมูปิ้ง เจ้าตัว บอกว่า ขายดี พอมีรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัว ทว่าขายไปสักระยะเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น หนที่สุดจำต้องเลิกขาย แล้วหันมาใช้วิธีพรีออเดอร์สินค้า ผ่านเฟซบุ๊ก กินกำไรส่วนต่าง

“ผมเลิกขายหมูปิ้ง ไก่ย่าง แล้วหันมาใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กด้วยการรับพรีออเดอร์สินค้าจำพวกผักสด ปลา เอากำไรกิโลกรัมละ 20 – 30 บาท”

 

 

 

ตูมตาม บอกว่า รายได้จากการพรีออเดอร์สินค้าจำพวกอาหารสดค่อนข้างดี มีเงินหมุนเวียนในครอบครัวแต่ละเดือนเป็นหมื่น แต่นานวันอยากหาความยั่งยืนให้กับชีวิต และแล้วจู่ๆ ก็คิดเลี้ยงปูนาขึ้นมา

“ในตลาดมีคนรับพรีออเดอร์สินค้ามากขึ้น ผมเลยคิดว่าอยากจะขยับขยายหาอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่า ประกอบกับส่วนตัวชอบกินปูนามาก (ปูที่ใส่ส้มตำ) เคยไปหาตามท้องนา 5-6 ชั่วโมง ไม่สามารถหาได้ เลยเกิดความคิด จะเลี้ยงขาย”

ด้วยความชอบกินปูนา ตูมตาม บอกว่า ใช้เงินเก็บที่มีอยู่จากการรับพรีออเดอร์สินค้า 2 หมื่นบาท ลงทุนเลี้ยงปูนาในบ่อปูน บนที่ดินที่มีอยู่ 1ไร่ 44 ตารางวา สั่งปูนา คละไซส์มาจากหลายจังหวัด ครั้งแรกราว 4 ตัน

การเลี้ยงปูนาครั้งแรกของตูมตามนั้นไม่สำเร็จ เด็กหนุ่ม บอกว่า เสียหมดเลย 4 ตัน เนื่องจากว่าเลี้ยงในบ่อปูน ซึ่งมีความเย็น อีกทั้งใส่น้ำประปาลงไปอีกมีคลอรีน ปูนาปรับสภาพไม่ทัน เสียหายเกลี้ยง

ด้วยความไม่ยอมแพ้ และกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม คราวนี้ตูมตามสั่งปูนามาเลี้ยงอีกครั้ง แต่เขาพัฒนาด้วยการเลือกซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนามาเลี้ยงแทนการซื้อตัวเล็ก เพราะปูนาตัวเล็กจะบอบบางตายง่ายกว่าพ่อแม่พันธุ์ ปัจจุบันเลี้ยงปู 2 สายพันธุ์ คือ ปูนาธรรมดา ตัวจะมีขนาดเล็ก และ ปูนาพันธุ์กำแพง ตัวใหญ่ รสชาติมัน

 

 

 

สำหรับวิธีการเลี้ยง เจ้าของฟาร์ม บอกว่า หลังจากได้ปูนาพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว ให้เลี้ยงในบ่อดินเหนียว ใส่น้ำให้ดินแฉะๆ สร้างบรรยากาศตามธรรมชาติ เลี้ยงต่อไป จนปูนาเริ่มกินอาหารได้เอง ประมาณ 5 วัน ค่อยย้ายไปอยู่บ่อปูน บ่อปูนที่ใช้เลี้ยงปู มี 70 บ่อ ขนาดบ่อละ 2×3 เมตร 1บ่อเลี้ยงปูได้ประมาณ 10,000 ตัว

การให้อาหาร สำหรับพ่อแม่พันธุ์ เจ้าของฟาร์ม จะให้อาหารวันละ 2 มื้อ ช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ เป็นอาหารปลาดุกเม็ดเล็กโปรตีน 32 หรือจะเสริมด้วยรำข้าวก็ได้ วางตามพื้นดิน เมื่ออาหารเม็ดโดนน้ำและดินก็จะละลาย ช่วงกลางคืนและช่วงเช้ามืด ปูนาจะออกมากิน ส่วนอาหารของลูกปูนาลงเดิน จนถึงอายุ 3 เดือน เป็นไข่แดงต้มสุก ให้อาหารวันละ 1 มื้อช่วงเช้า

สำหรับเทคนิคบังคับผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้ง ตูมตามเผยว่า โดยปกติปูนาจะออกลูกเพียงปีละ 1 ครั้ง ช่วงประมาณต้นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแต่เพื่อให้มีปูจำหน่ายตลอดทั้งปี ผมบังคับให้ปูผสมพันธุ์และออกลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง วิธีการคือ หลังจากปูนาออกลูกไปแล้วในช่วงฤดูฝน ให้ปล่อยดินแห้งแตกระแหง จากนั้นให้ฉีดน้ำเข้าไปเต็มที่ ทำให้ปูนาคิดว่าเข้าฤดูฝนอีกครั้งก็จะออกมาผสมพันธุ์กันเอง

 

 

 

 

ด้านการตลาด เด็กหนุ่มคนเมืองสิงห์ บอกว่า ขายทั้งปูสด ปูดอง และนำปูมาแปรรูปเป็นน้ำพริกเผา กะปิปู ส่งขายร้านอาหาร บางเดือนสร้างรายได้หลักล้านบาท

ผมขายปูทั้งตัวเล็กที่ใช้ตำส้มตำกิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนปูตัวใหญ่ที่กำลังลอกคราบ เรียกว่าปูนิ่มกิโลกรัมละ 1,200 บาท และก้ามปูกิโลกรัมละ 1,000 บาท ส่งตามร้านอาหาร ภัตตาคาร รวมถึงขายพ่อแม่พันธุ์ด้วยคู่ละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีการนำปูนามาเพิ่มมูลค่าเป็น ปูดอง กะปิปูนา น้ำพริกเผาปู”